วันที่ 25 พ.ย.64 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายภาณุพันธ์ สมสกุล ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 9/2564 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้
1. กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณี “ฮิวแมนไรทส์ วอทช์” เผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ปี 2564 ชี้ยังมีการละเมิดสิทธิฯ ใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทยจริง
ตามที่องค์กรฮิวแมนไรทส์ วอทช์ (Human Rights Watch: HRW) เผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ครั้งที่ 31 ประจำปี 2564 (World Report 2021) ซึ่งมีการนำเสนอสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในช่วงปี 2563 หลายประเด็น โดยในประเด็นผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิง และแรงงานข้ามชาติ มีการรายงานว่า “แม้ว่ารัฐบาลจะดำเนินการปฏิรูปอุตสาหกรรมประมง แต่ยังคงมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับการบังคับใช้แรงงาน การตกเป็นแรงงานขัดหนี้ของนายหน้าจัดหางาน การไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ การได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และการได้รับค่าจ้างล่าช้าเป็นเวลาหลายเดือน โดยในปี 2563 รัฐบาลสหรัฐอเมริกายังคงระบุให้สินค้าจากอุตสาหกรรมประมงไทยอยู่ในรายการสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ (List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor)”
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 กสม.ได้พิจารณารายงานสถานการณ์ดังกล่าวแล้วเห็นว่า ประเด็นที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิแรงงาน อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กสม. จึงมีมติให้มีการตรวจสอบ โดยมีหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่และรับฟังข้อเท็จจริงจากองค์กรภาคประชาสังคม ผู้แทนของสมาคมการประมง องค์กรฮิวแมนไรทส์ วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย รวมถึงพยานบุคคลและตัวแทนแรงงานข้ามชาติ
จากการตรวจสอบพบว่า เรื่องการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมง
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้บัญญัติห้ามมิให้จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 เป็นลูกจ้าง ส่วนกรณีที่มีการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้นายจ้างต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยเคร่งครัด ในขณะที่ งานประมงทะเลนั้น กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า
ห้ามนายจ้างจ้างลูกจ้างที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในเรือประมง ซึ่งจากการตรวจสอบเห็นว่า ในปี 2563 ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดในเรือประมง แต่ยังคงเกิดขึ้นในกิจการต่อเนื่องเกี่ยวกับการทำประมงและภาคการบริการ ซึ่งมีการจ้างแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 – 06.00 น.
อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยอยู่ระหว่างการดำเนินคดี หรือกรณีกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ในรูปแบบการแสวงประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ซึ่งมีผู้เสียหายเป็นเด็กหญิงสัญชาติกัมพูชา โดยผู้กระทำไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย
ส่วนกรณีการใช้แรงงานบังคับ ปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2563 มีลักษณะที่เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ให้การช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในรูปแบบการถูกแสวงประโยชน์ด้วยการบังคับใช้แรงงานในงานประมง หรือกรณีกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ รายงานว่า มีคดีที่ผู้เสียหายมีอายุระหว่าง 22 – 34 ปี แต่กรณีดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดของเรือประมงสัญชาติอื่นและผู้กระทำไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย และหากพิจารณาตาม “ตัวชี้วัดภาวะแรงงานบังคับ” ซึ่งจัดทำโดยโครงการปฏิบัติการพิเศษขององค์การแรงงานระหว่างประเทศเพื่อขจัดการใช้แรงงานบังคับ
(ILO’s Special Action Programme to Combat Forced Labour: SAP-FL) อาทิ การไม่จ่ายค่าจ้าง พบว่ายังคงเกิดกรณีการไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในเรือประมง อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และเข้าข่ายการบังคับใช้แรงงานตามเกณฑ์ตัวชี้วัดภาวะแรงงานบังคับข้างต้น
สำหรับการแก้ไขปัญหาข้างต้นนั้น รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แม้การดำเนินการจะยังไม่สามารถขจัดการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าทั้งในเชิงของการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดปัญหาให้มีจำนวนลดน้อยลง รวมทั้งมีกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น มีความพยายามเพื่อถอดสินค้าไทยออกจากรายการสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ (List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor) โดยมีนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งมีกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลัก
อย่างไรก็ตาม การใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทยเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ปรากฏมาโดยตลอดและส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติซึ่งมีจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็น การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ สรุปได้ดังนี้
(1) ให้คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก
ในรูปแบบที่เลวร้าย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับอย่างเคร่งครัดโดยไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมกันนี้ ต้องปรับมาตรการ ในการดำเนินการให้สามารถรองรับกับสถานการณ์แทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(2) ให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการระหว่างหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบการเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ
(3) คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ต้องเปิดโอกาสและสนับสนุนให้องค์กรเอกชนและองค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทในการตรวจสอบปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมง อ้อย เครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างรอบด้าน นอกจากการตรวจสอบโดยหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ จะได้เผยแพร่รายงานนี้ให้ประชาชนได้รับทราบเป็นการทั่วไปด้วย
2. กสม.ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตพบประชาชนจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ขณะที่พี่น้องสูงวัยไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้กว่าสามสิบปี แม้อยู่ในกรุงเทพ
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตามที่ประชาชน 19 ชุมชนได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าไม่สามารถเข้าถึงระบบไฟฟ้าและน้ำประปาได้ ซึ่งชุมชนดังกล่าวกระจายอยู่ทั้ง 3 อำเภอของจังหวัดภูเก็ต เช่น ชุมชนกิ่งแก้ว ชุมชนราไวย์ ชุมชนโหนทรายทอง ชุมชนหินลูกเดียว และชุมชนสระต้นโพธิ์
จากการรับฟังข้อเท็จจริงจากผู้แทนเครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ตและตรวจสอบสภาพพื้นที่พบว่า บางส่วนเป็นพื้นที่ที่มีข้อพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน ขณะที่บางส่วนเป็นพื้นที่ของรัฐ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยสภาพปัญหาในภาพรวมพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดิน จึงขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและส่งผลกระทบต่อเนื่องในการเข้าถึงสิทธิในการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปา
ประชาชนเหล่านี้ไม่สามารถยื่นคำร้องขอใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาได้เพราะไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ หรือหากขอใช้ได้ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าอัตราปกติ ทำให้ต้องใช้วิธีการพ่วงกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาจากบ้านหลังอื่น โดยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนที่สูงกว่าประชาชนทั่วไป 3 – 4 เท่า โดยบางส่วนเป็นหนี้ค่าไฟฟ้าสะสมหลายเดือนและถูกตัดกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังไม่สามารถขอรับสิทธิช่วยเหลือจากภาครัฐได้โดยตรง เช่น การขอลดค่าน้ำค่าไฟในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งนี้ มีประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 2,000 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ขาดโอกาสในการเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐและมีรายได้น้อย
“กสม. มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเข้าไม่ถึงไฟฟ้าและน้ำประปาทั้ง 19 ชุมชน ซึ่งถือเป็นปัญหาที่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับและเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดหาให้ตามรัฐธรรมนูญ” นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวและว่า จะเสนอรายงานการลงพื้นที่และรับฟังปัญหาของประชาชนในครั้งนี้ ต่อที่ประชุม กสม. เพื่อพิจารณา ตลอดจนมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับฟังปัญหากรณีผู้ร้องรายหนึ่งอายุ 61 ปี ประกอบอาชีพทำสวน อาศัยอยู่กับพี่สาวอายุ 73 ปี ขอความช่วยเหลือมายัง กสม. เนื่องจากที่ดิน
ซึ่งอาศัยมาตั้งแต่เกิดถูกหมู่บ้านจัดสรรล้อมรอบ ไม่มีทางออกสู่สาธารณะทำให้ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้นานกว่าสามสิบปี โดยผู้ร้องต้องรองน้ำฝนใส่โอ่งและใช้สารส้มทำให้น้ำตกตะกอนเพื่อใช้อุปโภคบริโภค และใช้เทียนไขช่วยให้แสงสว่าง นอกจากนี้ยังได้รับความลำบากในการเดินทางเข้าออก โดยต้องปีนบันไดข้ามกำแพงรั้วคอนกรีตของหมู่บ้านจัดสรร ขนาดความสูง 1.75 เมตร เพื่อผ่านไปทางสาธารณะ ทำให้ได้รับความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน
กรณีดังกล่าว กสม.ได้ประสานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องไฟฟ้า น้ำประปา และทางเข้าออก ตลอดจนการให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ แล้ว ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตบางเขนก็ได้ร่วมลงพื้นที่ และจะหารือกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ร้องและหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป
“เรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิที่จะเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน
ที่รัฐจะต้องจัดหรือดำเนินการให้มีอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามที่มาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุไว้ นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องสิทธิที่จะมีคุณภาพขีวิตที่ดีอีกด้วย” นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าว
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
24 พฤศจิกายน 2564
//////////////
ขอขอบคุณ
ภาพ/ข่าว กมล แย้มอุทัย ผู้สื่อข่าวพิเศษ
0 ความคิดเห็น