กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทำการสืบสวนและการตรวจสอบทางเทคนิคพบว่าร่องรอยการโจมตีจากระบบเครือข่ายทางศาลรัฐธรรมนูญ และตรวจพบหมายเลขไอพีของผู้ต้องสงสัย ซึ่งสามารถพิสูจน์ทราบยืนยันตัวตนของผู้ต้องสงสัยพร้อมพิกัดที่อยู่ได้ประกอบกับกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้รับเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายที่ถูกโจมตีจากศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ ดำเนินการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล เพื่อตรวจพิสูจน์วิธีการกระทำความผิดและยืนยันตัวตนผู้บุกรุกและเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว
ล่าสุดกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 ได้ขออนุมัติหมายค้นบ้านผู้ต้องสงสัย ภายในบ้านพักแห่งหนึ่งใน ต.แสนสุข อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกับในช่วงเช้าของวันนี้ได้ประสานงานร่วมกับ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 ในการเข้าตรวจบ้านผู้ต้องสงสัย จากการเข้าตรวจค้น พบตัวผู้ก่อเหตุ ทราบชื่อ นายวชิระ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี จบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้แฮกเว็บ ศาลรัฐธรรมนูญจริง จึงได้สอบปากคำไว้เป็นหลักฐาน พร้อม ยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เพื่อส่งให้ กลุ่มงานตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ดำเนินการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัลต่อไป
การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐาน เข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ ตามมาตรา 5, 7 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มีโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท และหากผู้กระทำมีการทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ก็จะมีความผิดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,00 บาท
อย่างไรก็ตาม ขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงพี่น้องประชาชน ในการรับมือกับภัยลักษณะดังกล่าว ดังนี้
1. ทุกหน่วยงานต้องตระหนักให้ความสำคัญกับเรื่องระบบพื้นฐานทางสารสนเทศการใช้โปรแกรมถูกลิขสิทธิ์ ต้องมีการตรวจสอบว่า มีการใช้ระบบ อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ ที่ End of Life (EoL) หรือไม่ เนื่องจากทำให้ระบบไม่สามารถอัปเดตช่องโหว่ต่างๆ ได้
2.ทางผู้ดูแลระบบ ต้องมีการตรวจสอบช่องโหว่ ความปลอดภัย และอัปเดตระบบเพื่อปิดช่องโหว่ต่างๆอยู่เสมอ และจะต้องมีการอบรมการใช้ระบบให้ปลอดภัยให้กับพนักงานทุกคนรวมไปถึงระดับผู้บริหาร เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในฐานะผู้ดูแลข้อมูลประชาชน
3. อัปเดตระบบป้องกันไวรัสอย่างสม่ำเสมอ เพราะผู้พัฒนาโปรแกรมป้องกันไวรัส จะมีการอัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับ Malware ที่เป็นอันตรายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยให้โปรแกรมป้องกันไวรัสสามารถตรวจสอบพบ Malware ชนิดใหม่ ๆ ที่อาจทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของเราเสียหายได้
4. ปิดการใช้งานโปรแกรม PowerShell ในระบบปฏิบัติการ Windows เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตีด้วย Ransomware โดยอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์
https://www.hightechcrime.org/cybercrime/Ransomware
5. จำกัดการเข้าถึงของเครือข่ายในองค์กรให้มีความรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำอุปกรณ์ส่วนตัวของพนักงานมาเชื่อมต่อกับเครือข่าย เนื่องจากอุปกรณ์ส่วนตัวอาจไม่มีการรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอ ซึ่งจะทำให้เป็นช่องทางที่ผู้ไม่หวังดีใช้ในการโจมตีระบบได้
6.ในส่วนของประชาชน ห้ามเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวใด ๆ ผ่านระบบออนไลน์ ให้กับผู้อื่นหากยังไม่ได้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน
7.ควรตั้งค่า Username ,Password ที่คาดเดายาก และเพิ่มการตั้งค่าการเข้ารหัส 2 ชั้น (2 Factor Authentication) เพื่อให้ยากต่อการเข้าถึงข้อมูล
8. มีการแบ่งความสำคัญของข้อมูลในระบบ และสำรองข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ โดยข้อมูลที่มีความสำคัญ จะต้องมีการแยกเก็บรักษาอย่างปลอดภัย และมีการกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึง เพื่อป้องกันการถูกแฮกหรือทำลายข้อมูลดังกล่าว
นอกจากนี้หากพบเห็นหรือทราบเบาะแสการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ สามารถแจ้งไปยัง Call Center กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หมายเลขโทรศัพท์ 1441 ในช่วงวันและเวลาราชการ หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กองบรรณาธิการTempo
/////////////
ขอขอบคุณ
ภาพ/ข่าว กมล แย้มอุทัย ผู้สื่อข่าวพิเศษ
0 ความคิดเห็น