กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. สั่งการ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ.ให้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดเกี่ยวกับวัตถุอันตราย
โดย พ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผกก.2 บก.ปคบ. ได้รับแจ้งเบาะแสจากพลเมืองดีว่ามีเพจเฟสบุ๊คบัญชีหนึ่งทำการโฆษณาขายน้ำกรดหยอดยางพารา ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่พบเลขทะเบียนวัตถุอันตราย จึงได้มอบหมายให้ พ.ต.ต.พงษ์พนา กรีฑา สว.กก.2 บก.ปคบ. ทำการสืบสวนจนพบแหล่งผลิตตั้งอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีการลักลอบนำกรดซัลฟูริกมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หัวเชื้อ สำหรับใช้กับน้ำยางพาราให้เกิดการแข็งตัว และนำไปจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่มีอาชีพทำสวนยางพารา โดยกรดซัลฟูริก เป็นวัตถุอันตราย ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.2556 ซึ่งอาจเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535
วานนี้(29 ต.ค.64) เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมได้ประสานเจ้าหน้าที่กองบริหารวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ขอหมายค้นของศาลจังหวัดสมุทรสาคร ที่ ค 485/2564 ลงวันที่ 29 ต.ค.64 เพื่อมาตรวจค้นบ้านพัก ม.6 ต.หลักสาม อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร และ หมายค้นของศาลจังหวัดสมุทรสาคร ที่ ค 487/2564 ลงวันที่ 29 ต.ค.64 ตรวจค้นโกดังไม่มีเลขที่
ม.6 ต.หลักสาม อ.บ้านแพ้ว จว.สมุทรสาครก่อนนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่กองบริหารวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกันตรวจค้นเป้าหมายทั้งสองแห่งที่มีนายณัฎฐกร (สงวนนามสกุล) อายุ 48 ปี และ น.ส.วรรณา (สงวนนามสกลุ) 41 ปี นำตรวจค้น
จากการตรวจค้นพบ 1. หัวเชื้อกรดซัลฟูริก 98% บรรจุในถังพลาสติก รวมปริมาณ 25,240 ลิตร 2. กรดซัลฟูริกพร้อมใช้ บรรจุในถังพลาสติก รวมปริมาณ 24,000 ลิตร 3. ผลิตภัณฑ์หัวเชื้อน้ำกรดพร้อมใช้ รวมปริมาณ 17,215 ลิตร 4. ขวดเปล่ารอการบรรจุน้ำกรด รวม 7,200 ขวด
สอบถามนายณัฎฐกร (ผู้นำตรวจค้น) รับว่าเป็นลูกจ้างของบริษัทของนายสุรพงษ์ (สงวนนาม) ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ผลิตดังกล่าว โดยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับน้ำกรดสำหรับหยอดน้ำยางพาราให้น้ำยางพาราแข็งตัว ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าว่าจ้างให้บริษัทฯ บรรจุน้ำยาให้ ซึ่งขวดสำหรับบรรจุและฉลากที่แสดงอยู่บนขวดภาชนะบรรจุ ลูกค้าเป็นผู้จัดหามาให้ โดยบริษัทฯ ใช้กรดซัลฟูริก 98% เป็นหัวเชื้อสำคัญ และมีน้ำเปล่า เป็นตัวผสม และมีสีผสมอาหารเป็นองค์ประกอบ
นอกจากนี้นายณัฎฐกร ยังได้นำเอกสารการสั่งซื้อกรดซัลฟูริก สีผสมอาหาร ฟิล์มพลาสติก ขวดเปล่ามาแสดงต่อเจ้าพนักงานชุดดังกล่าวตรวจสอบ โดยจากการตรวจสอบพบว่า กรดซัลฟูริก เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 บัญชี 5.1 ลำดับที่ 48 ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ ตาม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 และพบว่าสถานที่ผลิตดังกล่าว ไม่มีใบอนุญาตผลิตและครอบครองวัตถุอันตราย
ซึ่งจากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน 1.“ผลิต หรือมีไว้ในครอบครองวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 (กรดซัลฟูริก)โดยไม่ได้รับอนุญาต” ตาม ม.18(3), 23, 73
2.“ผลิต หรือมีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้” ตามมาตรา 45(4), 78 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535
เจ้าหน้าที่กองบริหารวัตถุอันตรายจึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดี กับบริษัทของนายสุรพงษ์ และผู้กระทำผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ก่อนทำการเก็บตัวอย่างและอายัดสิ่งของไว้ในที่เกิดเหตุ
ตำรวจสอบสวนกลางขอฝากเตือนภัยประชาชนให้ทราบว่า กรดซัลฟูริก มีฤทธิ์กัดกร่อนวัตถุเกือบทุกชนิด ซึ่งเมื่อสัมผัสต่อร่างกายอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่ออวัยวะสัมผัสได้ มีพิษเฉียบพลันโดยการสูดดม จากการที่กรดซัลฟิวริกถูกนำไปใช้ในหลายๆ อุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่จึงต้องควบคุมคุณภาพของกรดให้เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุสาหกรรม โดยกรดซัลฟูริกความเข้มข้น มากกว่า 50% W/W เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.2556 ซึ่งการผลิต การนำเข้า การส่งออก การมีไว้ในครอบครอง ต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น
///////////
ขอขอบคุณ
ภาพ/ข่าว กมล แย้มอุทัย ผู้สื่อข่าวพิเศษ
0 ความคิดเห็น